อ้างอิงจาก ระเบียบสำนักคณะรัฐมนตรีว่าด้วยมารยาททางการเมืองของข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2499
โดยระเบียบฉบับนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 73 ตอนที่ 27 ฉบับพิเศษ หน้า 7 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2499 พร้อมกับแจ้งเวียนส่วนราชการ ตามหนังสือกรมสารบรรณคณะรัฐมนตรี ฝ่ายการเมืองด่วนที่ นว.54/2499 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2499 ครับ รายละเอียดดังนี้ครับ
(1)ข้าราชการพลเรือนจะนิยมหรือเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใดๆ ที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายและจะไปประชุมของพรรคการเมืองนั้นเป็นการส่วนตัวก็ได้…สังเกตให้ดีนะครับ… “เป็นการส่วนตัว”
(2)ในส่วนที่เกี่ยวกับประชาชนหรือหน้าที่ราชการนั้น ต้องวางตัวเป็นกลาง ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลโดยไม่คำนึงถึงพรรคการเมือง
(3)ต้องไม่กระทำการฝ่าฝืนวินัย และต้องไม่กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามต่างๆ ดังต่อไปนี้
(3.1)ไม่ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองใดๆ เว้นแต่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 หรือเป็นข้าราชการการเมือง
(3.2)ไม่ใช้สถานที่ราชการในกิจการทางการเมือง
(3.3)ไม่วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลให้ปรากฏแก่ประชาชน
(3.4)ไม่แต่งเครื่องแบบราชการไปร่วมประชุมพรรคการเมือง หรือไปร่วมประชุมในที่สาธารณสถานใดอันเป็นการประชุมที่มีลักษณะทางการเมือง
(3.5) ไม่ประดับเครื่องหมายของพรรคการเมืองในเวลาสวมเครื่องแบบราชการ หรือในเวลาราชการหรือในสถานที่ราชการ
(3.6) ไม่แต่งเครื่องแบบของพรรคการเมืองเข้าไปในสถานที่ราชการ
(3.7) ไม่บังคับให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือประชาชนเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือไม่กระทำการในทางให้คุณให้โทษเพราะเหตุที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือประชาชนเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย
(3.8) ไม่ทำการขอร้องให้บุคคลใดอุทิศเงินหรือทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง
(3.9) ไม่โฆษณาหาเสียงเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง หรือแสดงการสนับสนุนพรรคการเมืองใดในที่ประชุมพรรคการเมือง โดยเปิดเผยหรือที่ปรากฏแก่ประชาชน
(3.10) เขียนจดหมายหรือบทความไปลงหนังสือพิมพ์ หรือพิมพ์หนังสือหรือรับใบปลิว ซึ่งจะจำหน่ายจ่ายแจกไปยังประชาชนโดยมีข้อความที่เป็นลักษณะของการเมือง
(3.11) ไม่ปฏิบัติหน้าที่แทรกแซงในทางการเมือง
(3.12) ในระยะเวลาที่มีการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่แสดงออกโดยตรงหรือโดยปริยายเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในทางกลับกันไม่กีดกัน ตำหนิติเตียน ทับถม ให้ร้ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง
4.หลังจาก พ.ศ.2499 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทางราชการโดยเฉพาะคณะรัฐมนตรีได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 12 ฉบับ และการใช้สถานที่ราชการ จำนวน 2 ฉบับ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2539 จึงได้มีการประมวลแนวทางการเลือกตั้งไว้ในฉบับเดียวกันตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0216/ว 141 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2539
5.แนวทางปฏิบัติในการเลือกตั้ง โดยสรุปย่อๆ สำหรับหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนี้
(5.1) ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการเลือกตั้งเมื่อได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และถือว่าเป็นหน้าที่ด้วย
(5.2) ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และให้เห็นความสำคัญของการเลือกตั้ง
(5.3) ให้วางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้งโดยเคร่งครัด
(5.4) ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นตัวอย่าง และชักชวนผู้มีสิทธิตลอดจนครอบครัว ญาติและประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยพร้อมเพรียงกันด้วย
(5.5) ให้ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใช้สถานที่ราชการในการหาเสียงโดยเสมอภาคกัน หากส่วนราชการใดมีระเบียบห้ามใช้สถานที่ราชการในกิจการทางการเมืองก็ต้องปฏิบัติตาม
(5.6) การใช้สถานที่ของโรงเรียน สถานศึกษาของทางราชการ ต้องไม่กระทบต่อการเรียน การสอนของสถานที่นั้นๆ และผู้ขอใช้สถานที่ต้องสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นตามควรแก่กรณีด้วย…เรียกว่าไม่ใช้ฟรีนั่นแหละ
ขอฝากพี่น้องเพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน ศึกษาระเบียบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ด้วยนะครับ
ที่มา : คัดลอกจาก==> ราชการแนวหน้า : ข้าราชการกับการเมือง